บ้านกร่างพิษณุโลก ถิ่น "ไก่ชน" พระนเรศวร

          บทความเก่ามาเล่าใหม่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์"มติชน" ย้อนหลังกลับไปประมาณ 23 ปีฉบับวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2533 "มีหัวข้อน่าสนใจสำหรับคนที่เคยได้ยินเรื่องไก่ชน พอเป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเกร็ดเกี่ยวข้องในทางประวัติศาสตร์แบบคร่าวๆ จากบทความ "เทศกาล งานประเพณี" กล่าวถึง "บ้านกร่างพิษณุโลก ถิ่น "ไก่ชน" พระนเรศวร" โดย กร บ้านกร่าง (มังกร จีนด้วง)

     ขอบคุณ คุณกร บ้านกร่าง เป็นอย่างยิ่งที่ให้ความอนุเคราะห์สำเนาต้นแบบบทความให้ลงในบล็อกนี้
ขอยกข้อความทั้งหมดจากบทความนี้มาให้อ่านกัน 

การ "ตีไก่" หรือ "ชนไก่" เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ระหว่างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับ ณ กรุงหงสาวดี พระองค์ได้ชนไก่เอาชนะไก่ของมังกะยอชะวา ราชนัดดาของพระเจ้าบุเรงนองมาแล้ว ปัจจุบันการชนไก่ยังนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในชนบทมักชอบนัดชนไก่กันตามเทศกาลต่างๆ

ดังปรากฏในหนังสือ "มหาราชชาติไทย" เขียนโดย ประกอบ โชประการ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "การชนไก่เป็นที่นิยมของชาวพม่าในสมัยนั้นเป็นที่สุด แม้แต่ในพระราชสำนักก็เป็นที่นิยมสูง ต่างประกวดประขันหา "ไก่ชน" ชั้นยอดมาเลี้ยงปรนเรือให้แกร่งกล้า แข็งแรง ทรหดอดทน มีการท้าพนันตีไก่กันเสมอมิได้ขาด" 

ลุปีพุทธศักราช 2114 มังกะยอชะวา กับพระนเรศวรตีไก่กันเป็นหนแรก เพราะทรงเห็นวา พระนเรศวร เพิ่งเริ่มเลี้ยงไก่ คงจะชนะไก่พระนเรศวรได้ไม่ยากนัก แต่กลับปรากฏว่า ไก่ของมังกะยอชะวาที่เคยตีชนะจนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชามานักต่อนักแล้วกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่ "ไก่เล้ยงใหม่ ของพระนเรศวร อย่างไม่มีทางสู้ เป็นเหตุให้มังกะยอชะวา เกิดโมหะจิต ตรัสประชดประชันเป็นเชิงเหยียดหยามพระนเรศวรขึ้นด้วยสุรเสียงอันดังว่า "ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ" พระนเรศวรทรงระคายเคืองพระทัยจนมิอาจทรงระงับพระโทสะไว้ได้ จึงตรัสตอบโต้ด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า "อย่าว่าแต่ตีพนันกันเท่านี้เลย ไก่เชลยตัวนี้ตีพนันเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้"
 

จากเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าขานกันต่อๆ มาว่า ไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำไปชนกับพม่านั้นเป็นไก่จาก เมืองพิษณุโลก

ขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งกลุ่มผู้บำรุงพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวร ที่บ้านกร่าง มีสมาชิกก่อตั้งประมาณ 30 คน เพื่อแให้สมาชิกเพาะพันธุ์ไก่ชนจำหน่าย มีคณะกรรมการคัดเลือกพันธุ์ ขึ้นทะเบียน และรับรองพันธุ์ นอกจากนั้นยังแนะนำให้รู้จักป้องกันโรคระบาดไก่ ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

บ้านกร่างเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ตั้งอยู่ติดถนนสายพิษณุโลก-สุโขทัย ระหว่างกิโลเมตรที่ 8-9 และได้รับการแต่างตั้งเป็นตำบลบ้านกร่าง เมื่อปี 2480 ขึ้นกับท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 10,000 คน ประชากรร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และการเพาะไก่ชน
 

 สิ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมายาวนาน เนื่องจากมีซากปรักหักพังวัดวาอารามอยู่มากมายไม่น้อยกว่า 20 วัด แต่ได้รับการบูรณะและชาวพุทธศาสนิกชนใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจในวันสำคัญทางศวสนาจำนวน 6 วัด ทางด้านขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมยังคงอนุรักษ์กันไว้และถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ตรุษ สงกรานต์ รำวง ชาวบ้านทำขนมนางเล็ด  นางแตน นางกง กระยาสารท ตักบาตรเทโว ตักบาตรข้าวต้ม เป็นต้น

บุคคลทั่วไปจะรู้จักชื่อเสียงของหมู่บ้านนี้ เพราะในอดีตถูกขนานนามว่า "เมืองคนพาล บ้านคนดุ ดิแดนอาณาจักรเถื่อน" เมือหลาย 10 ปีก่อนมักจะตัดสินคดีความกันด้วยวิธีรุนแรง ลักษณะพิเศษที่เป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่ง แม้อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนักแต่ภาษาถิ่นหรือสำเนียง "เหน่อ" แตกต่างไปจากคนจังหวัดพิษณุโลก มีสำเนียงละม้ายคล้ายคลึงชาวสุโขทัย เสียงจัตวาจะออกเสียงเอก เสียงเอกจะออกเสียงจัตวา

หากใครไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนใหญ่พอฟังแล้วจะหัวเราะขบขัน บ้างก็นำกลับไปล้อเลียน อาทิ "เสือ" ออกเสียง "เสื่อ", "เสื่อ" ออกเสียง เสือ", "หมู" ิิออกเสียง "หมู่", "หมู่" ออกเสียง "หมู" และการออกเสียงตัวเลข (1) หนึ๋ง (2) ส่อง (3) ส่าม (4) สี๋ ฯลฯ

บ้านกร่างวันนี้ประชากรส่วนใหญ่รับราชการ ทหาร ตำรวจ ครูและอื่นๆ เยาวชนรุ่นหลังได้รับการศึกษาในระดับสูงเป็นจำนวนมาก ตึกรามอาคารบ้านช่องมีความเจริญอยู่ในระดับหนึ่ง มีโรงเรียนระดบประถมศึกษา 4 แห่ง  มัธยมศึกษา 1 แห่ง ระดับอุดมศึกษา 1 แห่ง คือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก ในปีการศึกษา 2533 เปิดสอนระดับปริญญาตรีแล้ว

อย่างไรก็ตามการดำรงชีวิตของคนถิ่นนี้ยังคงสภาพสังคมไทยในชนบทไม่แปรเปลี่ยน กล่าวคือ เสร็จจากการทำนา ทำไร่ หันมากัดปลา ชนไก่ ฯลฯ และนิยมเลี้ยงไก่ชนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดูเหมือนว่าหลังคาเรือนไหนไม่มีไก่ชนติดบ้านออกจะเชยเต็มที เพราะนอกจากเลี้ยงง่ายแล้ว สามารถนำไปปรุงอาหาร หรือจำหน่ายได้อีกด้วย
ในงานฉลองครบรอบครองราชย์ 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม - วันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จังหวัดพิษณูโลกกำหนดให้มีการประกวดไก่ชนพระนเรศวรฯ ณ บริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ โรงเรียนพืษณุโลกพิทยาคม ในวันที่ 29 กรกฎาคม ในวันดังกล่าวมีไก่ชนเข้าร่วมประกวดกว่า 1,000 ตัว

นายไพฑูรย์ สุนทรวิภาต ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้ความสำคัญกับ ไก่ชนพระนเรศวร เป็นอย่างมาก นับว่าเป็นกิจกรรมหหนึ่งในงานนี้ เพราะได้เชิญคณาจารย์จากคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ เพื่อผลิตเซรามิกที่เป็นสัญลักษณ์ของดีเมืองพิษณุโลก เช่น ดอกจำปาขาวนครไทย หงส์วัดจุฬามณี กล้วยตากบางกระทุ่ม ไก่ชนบ้านกร่าง สุนัขบางแก้ว เป็นต้น เพื่อจำหน่ายในงานฉลองครบรอบครองราชย์ 400 ปี 

บ้านกร่างถิ่นไก่ชนสมเด็จพระนเรศวรมาหราช ดินแดนแห่งนี้จะเป็นตำนานที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติอีกแง่มุมหนึ่ง และคงสามารถกลบรอยอดีต เมืองคนพาล บ้านคนดุ โดยสิ้นเชิง...........  กร บ้านกร่าง .........

<<<< เว็ปไซต์>>>>>

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น