วัดในจังหวัดพิษณุโลก - วัดนางพญา



โบสถ์ปัจจุบัน
สถานที่ตั้ง : อยู่ถนนจ่าการบุญ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก อยู่ติดกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และอยู่ทางทิศตะวันออกถัดจากวัดราษฎร์บูรณะ   สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สถาปัตยกรรมมีลักษณะสมัยเดียวกันกับวัดราชบูรณะ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยอยุธยาตอนต้น ชาวพิษณุโลกเชื่อกันว่า ผู้สร้างวัดนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตริย์ เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอยู่นานถึง ๒๑ ปีในระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๒  


พระวิหาร เป็นอาคารทรงโรงก่ออิฐถือปูนมี ๖ ห้อง สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิ ฝาผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติ 
 
พระนางพญาในวิหารเก่า
แต่เดิมนั้นยังไม่มีอุโบสถมีแต่วิหาร  ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรม ทางวัดจึงได้ทำการบูรณะพระวิหารของเก่าทำให้เป็นอุโบสถ โดยการก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันพระราชทานพระฤกษ์การสร้างอุโบสถ ณ วันพุธที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖ เกี่ยวกับการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๐๕           



ปูชนียวัตถุ มีพระประธานในอุโบสถเรียกพระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว นอกจากนี้มีพระเครื่องพิมพ์นางพญาเป็นต้นตระกูลในสมัยนั้น ๓ ขนาด และมีเจดีย์เก่า ๒ องค์ มีมาคู่กับวิหารวัดนางพญา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๐ เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทางสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ์พระนางวิสุทธิกษัตริย์ พระราชชนนีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทย วัดนี้เป็นวัดต้นตระกูลของพระเครื่องสมเด็จนางพญา  มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า พระนางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระนางพญาเป็นสุดยอดพระ หนึ่งในชุดเบญจภาคี
พระนางพญาเรือนแก้ว


พระนางพญา

ได้มีการพบกรุพระนางพญาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และให้บรรดาข้าราชบริพาร ครั้งหลังเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อมีการขุดหลุมหลบภัยจึงไปพบพระนางพญาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด พระพิมพ์นางพญา เป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัย องค์พระอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีเหลี่ยมรอยตัดด้วยเส้นตอกตัดเรียบร้อย สวยงามประณีต เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาเนื้อแกร่ง และเนื้อหยาบ เนื้อมีส่วนผสมของดินว่านต่างๆ แร่ธาตุ กรวดและทราย
พระนางพญา -กรุวัดนางพญา
ภาพ : www.phrakruangputhorn.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น