วัดศรีพันต้น จ.น่าน

ที่ตั้ง 
          หากเดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ก่อนเข้าสู่เมืองน่านคงจะสังเกตเห็นวิหารสีทอง อยู่บริเวณหัวมุมถนนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของสี่แยกถนนเจ้าฟ้าตัดกับถนนสุริยพงษ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดศรีพันต้น  
          วัดศรีพันต้น สร้างขึ้นในสมัยของพญาพันต้น ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านแห่งราชวงศ์ภูคา (พ.ศ.1960-1969) ชื่อวัดมาจากนามของผู้สร้างคือ พญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น ซึ่งในอดีตมีต้นสลี(ต้นโพธิ์) ต้นใหญ่อยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของวัด แต่ปัจจุบันถูกโค่นลงเพื่อตัดถนนไปแล้ว 

 ความเป็นมา
          ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชขึ้นครองเมืองน่านในปีพ.ศ.2395 ปรากฏหลักฐานที่เหลืออยู่ว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดชได้สร้างวิหารวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งแต่เดิมเป็นวิหารไม้ พอกาลเวลาผ่านไปเกิดความชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จึงได้รับการสร้างขึ้นใหม่เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน อิฐที่นำมาสร้างพระวิหารในตอนนั้นมีลักษณะเป็นปูนขาวผสมกับน้ำเมือก อันแตกต่างไปจากอิฐในปัจจุบัน ซึ่งเรายังคงสามารถสังเกตเห็นอิฐโบราณนี้ได้ในบริเวณกำแพงวัดด้านตะวันออก โดยผู้คนในชุมชนเรียกว่า “กำแพงปล่องไข่” แต่เดิมวัดดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดพันต้น” ครั้นเจ้าเมืองได้เกณฑ์ให้ข้าราชการและขุนนางทั้งหลายช่วยกันปลูกต้นสลี (ต้นโพธิ์) จำนวนถึงพันต้น จึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดสลีพันต้น” ต่อมาชื่อวัดก็ได้เพี้ยนไปเป็น “วัดศรีพันต้น” และก็ถูกเรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน

 ปี พ.ศ.2538 ซึ่งเป็นปีกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารวัดศรีพันต้นครั้งใหญ่ขึ้น และชุมชนได้ส่งหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เพื่อขออนุญาตใช้ตรากาญจนาภิเษกประดิษฐานไว้บนหลังคาพระวิหาร ทำให้วิหารมีชื่อว่า “วิหารกาญจนาภิเษก” และได้ทำการบูรณะแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2547 โดยตัววิหารได้รับการทาสีเป็นสีทองอร่ามทั้งหลัง มีพระพุทธรูปประธาน ที่มีชื่อว่า “พระพุทธสลี” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ในแบบศิลปะสุโขทัยประดิษฐานอยู่ภายใน ผนังวิหารเป็นจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน รามเกียรติ์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ของเมืองน่าน บานประตูหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักตามจินตนาการของสล่า(ช่าง)

หากได้มาเยี่ยมชมความงามของวิหาร กาญจนาภิเษกของวัดศรีพันต้นแล้ว ก็จะไม่พลาดที่ชื่นชมความใหญ่โตของเรือพญาฆึไปในขณะเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมคู่ชุมชนและวัดศรีพันต้นมาแต่โบราณ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกจังหวัดน่าน
ประวัติ
เรือลำนี้ชื่อว่า "เรือ เลิศเกียรติศักดิ์ (พญาฆึ)" ประวัติ ของเรือเลิศเกียรติศักดิ์ เป็นเรือต่อทั้งลำ โดยการนำของ ท่านพระครูวิสุทนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น ได้ซื้อไม้มาจากป่าสุสานบ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง ได้ต่อเรือเมื่อปี พ.ศ. 2546 สำหรับเรือ เลิศเกียรติศักดิ์ (พญาฆึ) เป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน (และเรือแข่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย) สามารถบรรจุฝีพายได้ 100 คน

ที่มา: ภาพโรงเรือและเรือพญาฆี จากจุลสารจังหวัดน่าน

พระธาตุเขาน้อย วัดพระธาตุ จ.น่าน

องค์พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน หันพักตร์ไปทางพระธาตุช่อแฮ วันถ่ายภาพนี้หมอกเยอะมาจึงมองไม่เห็นพระธาตุช่อแฮ
ประวัติ
ตั้งอยู่ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกัน
จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่านซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542